วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์รถยนต์ในประเทศไทย

                                                                            

  รถยนต์เป็นเทคโนโลยี่ของศตวรรษที่ 20 เข้ามาถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อไรนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เข้าใจว่าคนที่สั่งรถยนต์เข้ามาใช้ในประเทศไทยคนแรกเป็นชาวต่างชาติ ไม่ทราบว่าเป็นยี่ห้อใด มีรายละเอียดบางประการอธิบายไว้ในสาสน์สมเด็จ อันเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบของพระบรมศานุวงศ์สองพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ องค์สถาปนิกผู้สังสรรค์สร้างวัดเบญจมบพิตร กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กนมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย โดยลายพระหัตถ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า รถยนต์คันแรกในประเทศไทยรูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน มีหลังคาเป็นปะรำ มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่ เช่นเดียวกับรถยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เครื่องยนต์มีกำลังเพียงพอสำหรับวิ่งบนที่ราบ แต่ไม่เพียงพอที่จะขึ้นสะพานได้ ข้อด้อยดังกล่าวจึงจึงทำให้การใช้งานมีขีดจำกัด เนื่องจากบางกอกสมัยนั้นใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก สะพานข้ามคลองจึงต้องยกสูงเพื่อให้เรือลอดได้ แต่กลับเป็นปัญหาสำคัญในการใช้รถยนต์ หรือยวดยานที่มีล้อ
หลังจากนำรถยนต์เข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นาน ชาวต่างชาติผู้นั้นก็ขายต่อให้แก่ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ก่อกำเนิดยุครถยนต์ในประเทศไทย เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นคนหัวสมัยใหม่ นิยมชมชอบในเรื่องเครื่องยนต์กลไก ทั้งใฝ่รู้ในสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และพอใจที่จะเป็นเจ้าของเครื่องยนต์กลไกแปลกใหม่ ในทันทีที่มีการจำหน่าย
ในลายพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าว่า ในตอนแรกที่ซื้อรถคันดังกล่าวมา เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีไม่สามารถขับได้ เพราะเกียร์แข็ง เข้ายาก ต้องให้น้องชายคือ พระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต) แก้ไขให้ พระยาอนุทูตวาที มีอายุอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2413-2482 และมีหัวในเรื่องเครื่องยนต์กลไก และเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถพันทุ่นมอเตอร์ได้ เป็นคนไทยคนแรกที่ไปรับจ้างทำงานในประเทศอังกฤษ จึงเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถขับรถยนต์ในประเทศไทยด้วย
                       


  จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) พระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต)
พระยาอนุทูตวาที สามารถเรียนรู้การขับรถยนต์คันดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และยังได้ถ่ายทอดให้กับผู้อื่นอีกด้วย รถยนต์ของเจ้าพระยาสรุศักดิ์มนตรี วิ่งใช้งานตามถนนในเมืองบางกอกอยู่นานหลายปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และทรงขอให้นำรถยนต์คันดังกล่าวมาตั้งแสดงด้วย จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ก็ยอมอนุญาติด้วยความเต็มใจ โดยกราบทูลว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงนำรถไปซ่อมที่กองลหุโทษ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทราบต่อมาภายหลังว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะซ่อมเสร็จ และรถก็ถูกทอดทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล จนเมื่อได้เสด็จไปที่กองลหุโทษ และถามหารถคันดังกล่าว พนักงานก็ทำท่าพิศวง และยิ้มอย่างสลดใจ แล้วนำเสด็จไปยังมุมห้อง ณ ที่นั้น คือกองโลหะที่หลงเหลือจากน้ำมือพ่อค้าเศษเหล็ก และนั่นคือจุดจบของรถยนต์คันแรกในประเทศไทย จากฝุ่นธูลีสู่เศษสนิม

                 


พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ในปี พ.ศ. 2447 มีรถยนต์ 3 คัน เข้ามาวิ่งตามถนนในเมืองบางกอก ไม่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร ใครเป็นเจ้าของ ช่วงนั้นรัฐบาลเริ่มเล็งเห็นในบทบาทและความสำคัญของรถยนต์แล้ว โดยได้แจ้งความโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ในปีเดียวกัน ระบุว่าโรงกษาปณ์หลวงมีความต้องการซื้อรถยนต์บรรทุกแวนเพื่อใช้ขนส่งทองแท่ง เงินแท่ง และเหรียญกษาปณ์ หนักหนึ่งตัน ต้องวิ่งได้เร็วไม่น้อยกว่า 10 ไมล์ต่อชั่วโมง พร้อมด้วยหลังคาปะรำสำหรับคนขับ และพนักงานประจำรถ
ในปีเดียวกันอีก พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงพระประชวร ต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ประทับอยู่ที่นั่น ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์คันหนึ่ง เป็นรถเดมเลอร์-เบนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นรถชั้นเยี่ยมในยุคนั้น ทรงซื้อรถคันดังกล่าวจาก มองซิเออร์ เอมีเลอ เจลลีเนค ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยี่ห้อนั้น ในประเทศฝรั่งเศส มองซิเออร์ เอมีเลอ เจลลีเนค มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ เมร์เซเดส ต่อมาภายหลังชื่อนี้ถูกนำไปใช้แทนชื่อ เดมเลอร์ กลายเป็น เมร์เซเดส- เบนซ์ ที่เลื่องลือไปทั่งโลก
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปลายปีนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้น้อมเกล้าถวายรถคันดังกล่าวแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงรับหน้าที่เป็นสารถีด้วยพระองค์เอง

ประวัติศาสตร์รถยนต์ในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานรถยนต์พระที่นั่งดังกล่าว เพราะทรงเห็นว่า สะดวกสบาย และเดินทางได้รวดเร็วกว่ารถม้าพระที่นั่ง ในยามว่างจากพระราชกรณียกิจ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นำเสด็จพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ไปตามที่ต่างๆ ต่อมาทรงเห็นว่า รถยนต์พระที่นั่งคันเดียวไม่พอที่จะใช้งานตามพระราชประสงค์ จึงตัดสินพระทัยที่จะซื้ออีกคันหนึ่ง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทำหน้าที่นี้ เช่นเดียวกับซื้อรถยนต์คันแรก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเลือกรถเมร์เซเดสเบนซ์ อีกคันหนึ่งโดนนำเข้าจากประเทศเยอรมนี รุ่นปี พ.ศ. 2448 เครื่องยนต์ 4 สูบ 28 แรงม้า ความเร็ว 73 กม.ต่อ ชั่วโมง นับว่าเร็วที่สุดในยุคนั้น
         

รถยนต์หลวงคันที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเมร์เซเดส
รุ่นปี พ.ศ. 2448 ได้รับพระราชนามว่า แก้งจักรพรรดิ์
ในปี พ.ศ. 2451 วาระเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 56 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสั่งซื้อรถยนต์ มาเป็นของขวัญพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นสูง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์แก่แผ่นดินสืบไป ในการนี้ทรงโปรดเกล้าให้ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สั่งซื้อจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 10 คัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามแก่รถยนต์เหล่านี้แต่ละคัน ในลักษณะเดียวกับที่พระราชทานนามแก่ช้าง เพื่อแสดงถึงฐานะและความมั่งมี เช่น แก้วจักรพรรดิ์ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพต กังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำลองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี
เมื่อมีรถมากขึ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาคนขับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงคัดเลือกมหาเล็กที่มีไหวพริบดี จำนวนหนึ่งไปฝึกหัดขับรถเป็นการด่วน และผู้ที่รับหน้าที่สอนขับรถก็คือ หม่อมเจ้าหญิงพิมพ์รำไพ พระธิดาของ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ในปี พ.ศ. 2452 ขณะที่รถยนต์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกของประเทศไทยขึ้น โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีถัดมา พระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้เจ้าของรถยนต์ต้องจดทะเบียนกับ กระทรวงมหาดไทย และเสียค่าธรรมเนียม 10 บาท
รถยนต์นั่ง และรถบรรทุกในพระราชอาณาจักรที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยขณะนั้นมีจำนวนดังนี้คือ
เมืองบางกอก และจังหวัดใกล้เคียง 401 คัน
จังหวัดนครสวรรค์ 1 คัน
จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 คัน
จังหวัดทางภาคเหนือ 6 คัน
จังหวัดภูเก็ต 2 คัน
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2470 ตัวเมืองบางกอกก็ขยายออกไปโดยรอบ มีถนนสายใหม่ๆ ที่ช่วยให้สามารถเดินทางไปในแถบชนบท แถวชานเมืองก็มีถนนชั้นดีหลายสาย สองข้างทางมีต้นไม้ยื่นกิ่งก้านปกคลุม และบังแสงอาทิตย์จากสายตาผู้ขับรถได้เป็นอย่างดี ป้อมปราการที่สวยงามดุจภาพวาดเริ่มจะหมดไป ทีละแห่งสองแห่ง ประตูเมืองถูกรื้อทิ้งเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่การจราจร กำแพงถูกทุบทิ้งแล้วเอาเศษอิฐเศษปูนไปปูถนน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น